เป้าหมายและขอบเขต (Aim and Scope)

      วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ เป็นวารสารวิชาการที่มีการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ (peer-reviewed) ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 มีเป้าหมายเพื่อรองรับผลงานการศึกษาวิจัยในประเด็นต่างๆ ที่ภาษามีบทบาทสำคัญ ทั้งแง่เชิงวิพากษ์ การพรรณนา และการเสนอแนวคิดหรือแนวทางใหม่ๆในการศึกษาภาษาและภาษาศาสตร์ เป็นพื้นที่สำหรับนำเสนอแง่มุมต่างๆ ทางภาษาศาสตร์ การสื่อสาร การเรียนรู้ภาษา การเรียนการสอนภาษา เช่น ทวิภาษา พหุภาษา การรู้ภาษาที่หนึ่ง ภาษาที่สอง ฯลฯ ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับภาษากับสังคมและการสื่อสาร เช่น การกีดกันทางภาษา ความขัดแย้ง การสื่อสารในองค์กร นโยบายและการวางแผนภาษา ฯลฯ เปิดรับบทความจากงานวิจัย บทความวิชาการ บทความปริทัศน์ ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษที่แสดงการค้นพบหรือนำเสนอประเด็นใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีหรือแนวคิดด้านภาษา ภาษากับสังคมวัฒนธรรมและการสื่อสาร หรือการเรียนการสอนภาษา ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงสหวิทยาการ

วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ (บทบรรณาธิการ)

      วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 มีเนื้อหาบทความที่แสดงผลการศึกษา โดยอาศัยแนวคิดทางภาษาและภาษาศาสตร์ที่หลากหลาย บทความ เรื่อง “การศึกษากลวิธีแสดงความเห็นแย้งของนักศึกษาเกาหลีที่พูดภาษาไทยเป็นภาษาที่ 2 ในการสนทนาแบบแสดงความคิดเห็นในภาษาไทยตามแนววัจนปฏิบัติศาสตร์อันตรภาษา” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีทางภาษา และการถ่ายโอนเชิงวัจนปฏิบัติศาสตร์ที่นักศึกษาเกาหลีใช้ในการแสดงความเห็นแย้งในภาษาไทยในฐานะภาษาที่ 2 บทความเรื่อง “งานวิจัยภูมิศาสตร์คำศัพท์ภาษาไทยวน” แสดงการสังเคราะห์งานวิจัยที่ศึกษาภูมิศาสตร์คำศัพท์ภาษาไทยวนหรือภาษาไทยถิ่นเหนือในประเทศไทย ส่วนบทความเรื่อง “How Sunthorn Phu Expressed his Aesthetic Values through Sanskrit?” เป็นการวิเคราะห์คำภาษาสันสกฤตที่ใช้ในประชุมโวหารสุนทรภู่ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านเสียงและความหมาย และบทความเรื่อง “Do you Know How to Live a Desirable Life?: A Critical Discourse Analysis of the “Guidance for Life” Self-help Books in Thai” วิเคราะห์หนังสือแนะนำการดำเนินชีวิตของคนไทยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์โดยใช้แนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์

      กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสาระต่าง ๆ จากวารสารฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ และเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการด้านภาษาและภาษาศาสตร์ของท่านต่อไป

      ชลธิชา บำรุงรักษ์